ขอบเขตการดำเนินงานของภาคเอกชน
ระยะที่ 1 ช่วงออกแบบและก่อสร้าง

ด้านวิศวกรรม

- งานอาคาร ประกอบด้วย การจัดวางผังกลุ่มอาคาร การออกแบบอาคาร และการออกแบบด้านสถาปัตยกรรมอาคาร สอดคล้องต่อการใช้งานและสัมพันธ์กับกิจกรรมต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศในพื้นที่ ควรให้เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก คำนึงถึงการประหยัดพลังงาน ส่วนด้านสถาปัตยกรรมอาคารควรคำนึงถึงเอกลักษณ์และวัฒนธรรมประจำภูมิภาค การใช้วัสดุงานฝีมือพื้นถิ่นมาประยุกต์ใช้ในการตกแต่งเพื่อให้อาคารมีความน่าสนใจและประทับใจผู้มาใช้บริการ
- งานทาง จะต้องออกแบบงานทางให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล โดยคำนึงถึงความปลอดภัย และความสะดวกสบายของผู้ขับขี่
- งานออกแบบผิวทาง จะต้องออกแบบผิวทางให้สามารถรองรับปริมาณจราจรที่เข้ามาใช้บริการในโครงการและเป็นไปตามมาตรฐานสากลทั้งผิวทางคอนกรีตและผิวทางแอสฟัลท์ โดยพิจารณาคุณสมบัติดินใต้พื้นผิว การเพิ่มขึ้นของปริมาณจราจร อายุการออกแบบผิวทาง รวมถึงการบำรุงรักษาผิวทางตลอดอายุในการออกแบบ
- งานระบบไฟฟ้าส่องสว่าง ระบบระบายน้ำ ระบบสุขาภิบาล ระบบดูแลความปลอดภัย และสิ่งอำนวยความสะดวกอื่น ๆ ที่จำเป็นสำหรับโครงการ โดยอ้างอิงมาตรฐานและข้อกำหนดการออกแบบตามที่กรมทางหลวงกำหนด
ด้านสิ่งอำนวยความสะดวก

- พื้นที่จำหน่ายสินค้าและบริการ ร้านค้า-ร้านอาหารและเครื่องดื่ม ไม่เกินร้อยละ 15 ของขนาดพื้นที่
- พื้นที่จอดรถสำหรับยานพาหนะแยกประเภท ไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 ของขนาดพื้นที่โดยไม่คิดค่าบริการอย่างน้อย 4 ชั่วโมงแรก ไม่รวมที่จอดรถของร้านค้าและบุคลากร
- พื้นที่สีเขียวไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 ของขนาดพื้นที่ทั้งหมดของที่พักริมทาง การจัดให้มีที่นั่งพักผ่อนในร่ม สนามเด็กเล่น สวนหย่อม
- จัดเตรียมห้องน้ำ-ห้องส้วมสาธารณะจัดให้เพียงพอต่อการใช้งานรองรับผู้ใช้งานตามหลักการออกแบบเพื่อคนทุกคน (Universal Design) และพร้อมใช้งาน 24 ชั่วโมงโดยไม่คิดค่าบริการ มีสถานที่และอุปกรณ์เปลี่ยนผ้าอ้อมเด็กรองรับการใช้งานได้ทั้งผู้ชายและผู้หญิง
- โทรศัพท์สาธารณะและโทรศัพท์ฉุกเฉินให้มีสัญญาณโทรศัพท์มือถือครอบคลุมทั่วพื้นที่ และระบบอินเทอร์เน็ตไร้สายความเร็วสูงครอบคลุมทั่วพื้นที่
- อาคาร/พื้นที่การบริการข้อมูลจราจรและเส้นทางการเดินทาง
- สถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับยานพาหนะและสถานีการประจุไฟฟ้า (EV Charging Station) พร้อมบริการปั้มลมและน้ำเติม
- ศูนย์/อาคารปฐมพยาบาล อาคารหน่วยกู้ภัยฉุกเฉินและระงับอัคคีภัย
- อาคารควบคุมของงานระบบต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น อาคารควบคุมและดูแลสถานที่ อาคารควบคุมระบบไฟฟ้า อาคารควบคุมระบบน้ำประปา อาคารเก็บขยะ เป็นต้น
ระยะที่ 2 ช่วงการดำเนินงานและบำรุงรักษา

ด้านการดำเนินงาน
ภายในที่พักริมทางจะต้องมีความพร้อมในการใช้งานและความสะอาด เช่น ห้องน้ำ ที่พักคอย/ที่นั่ง โทรศัพท์สาธารณะฉุกเฉิน ที่บริการน้ำดื่ม ฯลฯ มีการจัดระเบียบลานจอดรถและทางเดินรถ สภาพของพื้นที่สีเขียว โดยการบริการต่างๆ ต้องสอดคล้องกับการรองรับการหยุดแวะพัก หรือจูงใจให้มีการหยุดแวะพักเพื่อผ่อนคลายความเมื่อยล้าจากการขับขี่

ด้านร้านค้าและพื้นที่เชิงพาณิชย์
ให้บริการจำหน่ายสินค้าและบริการด้านต่างๆ แก่ผู้ใช้ทาง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่ออำนวยความสะดวกและปลอดภัยแก่ผู้ใช้ทาง ซึ่งจำเป็นต้องกำหนดสัดส่วน ชนิด และพื้นที่ของร้านค้าให้มีจำนวนที่เหมาะสม และน่าดึงดูดใจ ซึ่งสามารถแบ่งประเภทการให้บริการของร้านค้าและพื้นที่เชิงพาณิชย์ได้ เช่น
• ร้านค้าประเภทนั่งรับประทานในร้าน
• ร้านค้าประเภท Drive Thru หรือ Grab & Go
• ศูนย์อาหาร (Food Court)
• ร้านจำหน่ายสินค้าและผลิตภัณฑ์ชุมชน (OTOP)
• ร้านสะดวกซื้อ (Convenience Store)
• ร้านขายสินค้าและของที่ระลึก (Retail & Souvenir)
• การให้บริการเชื้อเพลิงสำหรับยานพาหนะ เป็นต้น
ทั้งนี้ การจำหน่ายสินค้าและบริการภายในที่พักริมทางมีข้อกำหนดในการห้ามจำหน่ายจ่ายแจกสินค้าและบริการหรือการจัดกิจกรรม ได้แก่ สินค้าและบริการที่ผิดกฎหมาย เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์และของมึนเมาทุกชนิด สินค้าและบริการเกี่ยวกับการพนันและยาเสพติด กิจกรรมที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน กิจกรรมที่เป็นอันตรายต่อผู้ใช้ทาง

ด้านการบริหารพื้นที่
ต้องให้ความสำคัญต่อความปลอดภัยและรักษาสิ่งแวดล้อม ตลอดจนอาชีวอนามัยของผู้ใช้บริการ ได้แก่ ช่วงเวลาการให้บริการ การรักษาความปลอดภัยและดูแลความเรียบร้อยของพื้นที่ การจัดการรักษาสิ่งแวดล้อม การป้องกันอุบัติภัยและแก้ไขปัญหาจราจร

ด้านการบำรุงรักษา
การบำรุงรักษาที่พักริมทางครอบคลุมพื้นที่ลานจอดรถและทางเดินรถ อาคาร ทางเดินเท้า สิ่งอำนวยความสะดวก ระบบสาธารณูปโภคและพื้นที่สีเขียว ได้แก่ 1) การบำรุงรักษาแบบที่ต้องทำเป็นประจำ (Routine Maintenance) เช่น งานบำรุงรักษาทั่วไป งานบำรุงรักษาผิวทาง งานบำรุงรักษารั้ว งานบำรุงรักษาสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง เป็นต้น และ 2) การบำรุงรักษาตามวาระ (Periodic Maintenance) เช่น การบำรุงรักษาอาคารต่างๆ ทุก 5 ปี 10 ปี งานถนนภายในและลานจอดรถ งานภูมิทัศน์และพื้นที่โดยรอบ ระบบไฟฟ้าส่องสว่าง เป็นต้น
การร่วมลงทุนและการจัดสรรผลตอบแทน
เอกชนผู้ร่วมลงทุนจะเป็นผู้พัฒนาและบริหารจัดการที่พักริมทางทั้งหมด 3 ตำแหน่ง (6 แห่ง) บนทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 81 สายบางใหญ่ – กาญจนบุรี
ตลอดแนวเส้นทางโครงการ ทั้งฝั่งขาเข้าและฝั่งขาออกในสัญญาเดียว

มูลค่าลงทุนโครงการ

มูลค่าลงทุนโครงการแบ่งเป็น 2 ส่วนหลัก ได้แก่ ค่าลงทุนสิ่งปลูกสร้างหลัก และค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษา โดยคำนวณเงินลงทุนและทรัพย์สินของภาครัฐและของเอกชน

1. เงินทุนเงินลงทุนของภาครัฐและเอกชน (Capital Investment) โดยประมาณการเงินลงทุนเริ่มต้น (Initial Capital Investment) และเงินลงทุนในอนาคต (Future Capital Expenditure) ที่ทำให้ดำเนินงานตามโครงการร่วมลงทุนได้ โดยคำนวณเฉพาะเงินลงทุนที่ก่อให้เกิดทรัพย์สินถาวรของภาครัฐและเอกชน นอกเหนือจากทรัพย์สินของภาครัฐที่กำหนด

2. ทรัพย์สินของภาครัฐ ประกอบด้วย
- ที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง (Land and Property)
- เครื่องจักรและอุปกรณ์ (Machine and Equipment)
- ทรัพย์สินที่ไม่มีรูปร่าง (Intangible Asset) เช่น เครื่องหมายการค้า (Trademark) สิทธิบัตร (Patent) หรือ ลิขสิทธิ์ (Copyright)
- การอนุญาต การให้สัมปทาน การให้สิทธิแก่เอกชนเพื่อร่วมลงทุน
ทรัพย์สินอื่นที่จำเป็นในการดาเนินโครงการร่วมลงทุน

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้